|
|
 |
|
ถนนราชพฤกษ์ ช่วงเพชรเกษม – รัตนาธิเบศร์ ได้เปิดให้บริการตั้งแต่ ปี พ.ศ 2548 ซึ่งทำให้พื้นที่ริมทางและใกล้เคียงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณจราจรที่มาใช้เส้นทางมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนเกิดปัญหาการจราจรติดขัด กรมทางหลวงชนบทในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบถนนราชพฤกษ์ ได้ดำเนินการก่อสร้างทางขนานเพื่อขยายช่องจราจรเป็นระยะ ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 จนถึงทางหลวงหมายเลข 345 ให้มีขนาด 10 ช่องจราจร ไป/กลับ แล้วเสร็จในปี 2562 สามารถบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนราชพฤกษ์ ได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากบริเวณสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์มีเขตทางไม่เพียงพอที่จะดำเนินการก่อสร้างทางขนานได้ตามปกติ ดังนั้นบริเวณสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์จึงมีเพียง 6 ช่องจราจร ไป/กลับ จึงเกิดสภาพเป็นคอขวดไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรได้ จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ทำให้ประสิทธิภาพของถนนราชพฤกษ์ลดลง เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเป็นประจำ อีกทั้งยังส่งผลถึงปัญหาด้านมลพิษ
ดังนั้น กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขปัญหาบริเวณสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ในพื้นที่ที่มีอยู่ โดยได้ออกแบบสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มเติมสำหรับทางขนานอีกฝั่งละ 2 ช่องจราจร เป็นสะพานคร่อมสะพานเดิม ซึ่งสามารถใช้เขตทางเดิมโดยไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ทำให้บริเวณนี้ไม่เกิดสภาพเป็นคอขวด สามารถลดปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุและลดปัญหามลพิษได้
กรมทางหลวงชนบท เป็นหน่วยงานที่เข้าร่วมสนับสนุนนโยบายในการแก้ไขปัญหาจราจรของรัฐบาลอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดเวลา และได้เริ่มก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์เพื่อพัฒนาศักยภาพการเดินทางในพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ในปี 2531 กรมทางหลวงชนบท ในฐานะกรมโยธาธิการในขณะนั้นได้ประสานงานกับสำนักผังเมือง และมีการระดมความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อกำหนดแนวเส้นทางสายหลักต่างๆ ลงในผังเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางถนนราชพฤกษ์รวมอยู่ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครด้วย จึงได้เริ่มดำเนินงานโครงการ โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณทางแยกตากสิน (ต่อเชื่อมกับถนนธนบุรี) และสิ้นสุดบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 345 รวมระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร และต่อมาได้ดำเนินการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมในแนวตะวันออก-ตะวันตก ประกอบด้วย
- ถนนกัลปพฤกษ์ (ต่อเชื่อมระหว่างถนนราชพฤกษ์กับถนนกาญจนาภิเษก ยาวประมาณ 7 กิโลเมตร)
- ถนนนครอินทร์ (ต่อเชื่อมระหว่างถนนติวานนท์กับถนนกาญจนาภิเษก ยาวประมาณ 10 กิโลเมตร)
- ถนนชัยพฤกษ์ (ต่อเชื่อมระหว่างถนนแจ้งวัฒนะกับถนนกาญจนาภิเษก ผ่านทางถนนบางกรวย-ไทรน้อย
ยาวประมาณ 10 กิโลเมตร) พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง คือ
แห่งที่ 1 สะพานพระราม 5 (อยู่บนถนนนครอินทร์)
แห่งที่ 2 สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (อยู่บนถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนนนทบุรี 1กับถนน ราชพฤกษ์)
แห่งที่ 3 สะพานพระราม 4 (อยู่บนถนนชัยพฤกษ์)
|
|
|
|
|
 |
|